AOT ยืนยันช่วยเหลือผู้ประกอบการสนามบินภายใต้ข้อกฎหมายด้วยความเป็นธรรม

จากกรณีที่มีกระแสข่าวมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการใดเป็นการเฉพาะโดยมิได้คำนึงถึงองค์รวม หรือผลประโยชน์
แก่ประเทศ ซึ่ง ทอท.ขอยืนยันว่า มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างภายในท่าอากาศยาน เกือบ 100,000 คน รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าสนามบินมากกว่า 1,000 ราย ภายใต้ข้อกฎหมายที่เป็นธรรม เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดต่ออัตราจ้างงานไปจนถึงบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ
มาตรการดังกล่าวเป็นไปตามข้อสั่งการในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม โดยหนึ่งในข้อสั่งการระบุว่าทุกหน่วยงานของภาครัฐจะต้องเพิ่มมาตรการบรรเทาและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน
ทั้งผู้ประกอบการสนามบิน ลูกจ้างจนถึงประชาชน และเร่งดำเนินการในบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามมาตรการบูรณาการความร่วมมือพหุภาคีเพื่อลดผลกระทบ อย่างไรก็ตามข้อสั่งการดังกล่าวได้ถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งได้รับอนุมัติเห็นชอบให้ดำเนินการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว ปี 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1.มาตรการด้านภาษี 2.มาตรการด้านการเงิน 3.มาตรการด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน
สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าภายในท่าอากาศยานของ ทอท.นั้น เป็นไปในทิศทางเดียว
กับหน่วยงานอื่นในสังกัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่างออกมาตรการเยียวยา เพื่อช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ กรมท่าอากาศยาน ปรับลดค่าเช่าพื้นที่ ลงร้อยละ 50 และปรับลดค่าบริการในการขึ้น-ลงอากาศยาน (Landing charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking charge) ในอัตราร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศและเที่ยวบินภายในประเทศ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ปรับลดค่าบริการการเดินอากาศ (Air navigation service charge) ในอัตราร้อยละ 50 สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ และปรับลดอัตราร้อยละ 20 สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ปรับลดค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ (Regulatory fee) จากอัตราคนละ 15 บาท เป็นคนละ 10 บาท สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการขนส่งทางอากาศยังได้มีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ (Credit terms) ค่าบริการ ค่าภาระ หรือเงินตอบแทนที่สายการบินถูกเรียกเก็บจากผู้ประกอบการท่าอากาศยาน
กรมสรรพสามิต ขยายการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน กรมธนารักษ์ ได้มีการยกเว้น การเรียกเก็บค่าเช่าที่ดิน การเลื่อนชำระค่าเช่าและผลตอบแทน และการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระค่าเช่าที่ดิน การประปานครหลวงและการประปาส่วนภูมิภาค ได้ปรับลดค่าน้ำ และยกเว้นค่าธรรมเนียมในการชำระค่าน้ำประปา การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า และขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้า
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าววิเคราะห์อย่างครบถ้วนบนพื้นฐานบริบทปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือทุกภาคส่วนตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งผู้ประกอบการสายการบิน และผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ รวมพนักงานและลูกจ้างอีกเกือบแสนชีวิต เพื่อให้ผู้ประกอบการฯ สามารถประคับประคองกิจการให้คงอยู่ต่อไปได้ตามความเหมาะสมของโครงสร้างต้นทุน (Cost Structure) บนพื้นฐานความเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยได้ตรวจสอบและดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

--------------------------------------------------------
ฉบับที่ 35 / 2563 วันที่ 6 สิงหาคม 2563
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ 0 2535 5242, 0 2535 5240 โทรสาร 0 2535 5216
อีเมล aot_media@airportthai.co.th เว็บไซต์ www.airportthai.co.th