ทอท.ครบรอบ 39 ปี การดำเนินการ

ข่าวประชาสัมพันธ์บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ฉบับที่ 57 / 2561 วันที่ 28 มิถุนายน 2561

ทอท.ครบรอบ 39 ปี การดำเนินการ

 

(28 มิถุนายน 2561) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) จัดงานแถลงข่าวครบรอบ 39 ปี การดำเนินการ มุ่งมั่นพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานให้รองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นด้วยระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยมีนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เป็นผู้แถลงข่าว ณ สำนักงานใหญ่  ทอท.

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า นับแต่การก่อตั้งการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2522 และแปรรูปองค์กรเป็นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเป็นองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์ (Brand Value) สูงสุดในประเทศด้วยมูลค่า 309,111 ล้านบาท ทอท.มีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ   ท่าอากาศยานมายาวนานกว่า 39 ปี และมีท่าอากาศยานภายใต้การบริหารของ ทอท.จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ตลอด 39 ปีที่ผ่านมา ทอท.ได้ให้บริการเที่ยวบินทั้งสิ้น 10,503,326 เที่ยวบิน และผู้โดยสาร 1,573,696,970 คน ปัจจุบันมีสายการบินให้บริการเที่ยวบินประจำมากกว่า130 สายการบิน เชื่อมต่อจุดหมายปลายทางกว่า 200 จุดบิน

สำหรับผลการดำเนินงานด้านการให้บริการในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 2561 (เดือนตุลาคม 2560 – พฤษภาคม 2561) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยาน 6 แห่งของ ทอท.จำนวน 95,536,222 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.88 โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 55,021,195 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.03 และผู้โดยสารภายในประเทศ 40,515,027 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 ซึ่งผู้โดยสารแยกตามสัญชาติที่มาใช้บริการมากที่สุด 5 ลำดับแรก (ไม่รวมสัญชาติไทย) ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และรัสเซีย ส่วนเที่ยวบินมีจำนวน 585,423 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.17 โดยแบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 309,218 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.63 และเที่ยวบินภายในประเทศ 276,205 เที่ยวบิน ลดลงร้อยละ 0.24 และมีปริมาณการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 1,100,980 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.77

นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปริมาณการจราจรทางอากาศในรอบ 8 เดือน แบ่งเป็นแต่ละท่าอากาศยานได้แก่ ทสภ.มีเที่ยวบินทั้งสิ้น 243,230 เที่ยวบิน    เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.88 มีผู้โดยสาร 42,853,927 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.01 และการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 1,001,314 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.88 ส่วน ทดม.มีเที่ยวบินทั้งสิ้น 180,148 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 มีผู้โดยสาร 27,434,359 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.53 และการขนถ่ายสินค้าแลไปรษณียภัณฑ์ จำนวน 39,087 ตัน ลดลงร้อยละ 16.89 ที่ ทภก.มีเที่ยวบินทั้งสิ้น 78,810 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.81 มีผู้โดยสาร 12,943,335 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.15 และการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 41,346  ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.33 ด้าน ทชม.มีเที่ยวบินทั้งสิ้น 50,540 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.55 มีผู้โดยสาร 7,461,354 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.61 และการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 10,470 ตัน ลดลงร้อยละ 17.51 ขณะที่ ทหญ.
มีเที่ยวบินทั้งสิ้น 19,241 เที่ยวบิน ลดลงร้อยละ 5.69 ผู้โดยสาร 2,891,365 คน ลดลงร้อยละ 1.72 และการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 6,201 ตัน ลดลงร้อยละ 22.79 และ ทชร.มีเที่ยวบินทั้งสิ้น 13,454 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.27 มีผู้โดยสาร 1,951,882 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.26 และการขนถ่ายสินค้าและไปรษณียภัณฑ์จำนวน 2,562 ตัน ลดลงร้อยละ 27.32 ในส่วนของผลประกอบการ ทอท.รอบ 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 31 มีนาคม 2561 (งบการเงินเฉพาะบริษัท) ทอท.มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 30,501.27 ล้านบาท และรายได้อื่น 758.63 ล้านบาท รวมรายได้คิดเป็น 31,259.90 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย 14,495.72 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 3,328.83 ล้านบาท จึงทำให้มีกำไรสำหรับงวด    ดังกล่าว จำนวน 13,435.35 ล้านบาท

นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับก้าวต่อไปของ ทอท.   ทอท.จะมุ่งดำเนินการทั้งด้านการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน การพัฒนา   โครงข่ายระบบท่าอากาศยาน การพัฒนาการดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ การสร้างธุรกิจใหม่ๆ และการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อการอำนวย  ความสะดวกและบริการผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน เช่น ทอท.ได้เร่งงานก่อสร้างโครงการพัฒนา ทสภ.(ปีงบประมาณ 2554 – 2560) (ระยะ 2) ให้แล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ซึ่งเป็นงานตามโครงการฯ ได้ภายในปี 2563 นอกจากนั้น จะดำเนินโครงการก่อสร้างอาคาร     ผู้โดยสารหลังที่ 2 ทสภ.เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้อีก 30 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ 12 ล้านคนต่อปี         และผู้โดยสารระหว่างประเทศ 18 ล้านคนต่อปี โดยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการ ทอท.ได้อนุมัติโครงการแล้ว และ ทอท.จะเสนอให้กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2562 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 นอกจากนั้น ทอท.ยังอยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ณ ทสภ.ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 เช่นเดียวกัน

สำหรับโครงการพัฒนา ทดม.จะมีการดำเนินการโครงการเร่งด่วน คือ เตรียมก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์เพื่อใช้เป็นที่พักคอยสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางเป็นกลุ่มในเส้นทางระหว่างประเทศ เพื่อลดความหนาแน่นของผู้โดยสารในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ซึ่งอาคารดังกล่าวเป็นอาคาร 2 ชั้น แบ่งเป็น ชั้น 1 สำหรับจอดรถบัส และชั้น 2 สำหรับเป็นพื้นที่พักคอยผู้โดยสารที่เดินทางเป็นกลุ่มในเส้นทางระหว่างประเทศ โดยจะดำเนินการก่อสร้างบริเวณลานจอดรถบัส ระหว่างอาคารสำนักงาน ทดม.และอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อลดความแออัด บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสาร โดยจะใช้งบเร่งด่วนปี 2561 และคาดว่าจะให้เสร็จในอีก 6 - 8 เดือนข้างหน้า  ด้าน ทภก.ได้ดำเนินโครงการพัฒนา ทภก.(ปีงบประมาณ 2553 – 2557) เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยมีการเปิดอาคารผู้โดยสารภายในประเทศที่ปรับปรุงใหม่อย่างเป็นทางการ       เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ทำให้ ทภก.มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ 12.5 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นอาคารระหว่างประเทศ 5 ล้านคนต่อปี และอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ 7.5 ล้านคนต่อปี มีหลุมจอดเพิ่มเป็น 34 หลุมจอด และที่จอดรถยนต์สามารถรองรับเพิ่มเป็น 1,500 คัน และหลังจากนี้จะดำเนินโครงการพัฒนา ทภก.ระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 18 ล้านคนต่อปี ส่วนโครงการพัฒนา ทชม. ทชร.และ ทหญ.  ทอท.จะเร่งดำเนินการตามแผนงานต่อไป

นอกเหนือจากการพัฒนาท่าอากาศยานของ ทอท.แล้ว ทอท.ยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนแนวนโยบายในการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานภูมิภาคส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรองของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวไปยังเมืองรอง 55 จังหวัดและเป็นโอกาสที่จะสามารถสนับสนุนให้เกิดโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในภูมิภาคอาเซียนและ          อนุภูมิภาค ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายด้านการเพิ่มศักยภาพและการบริหารท่าอากาศยานพาณิชย์ของประเทศให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และมุ่งเน้น   การเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานในภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยในเบื้องต้น ทอท.ได้เสนอขอเข้าบริหารท่าอากาศยาน ของ ทย. จำนวน    4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานตาก ทั้งนี้ ทอท.ได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาศักยภาพการบริหารงานท่าอากาศยานของ ทอท.เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแผนการเพิ่มศักยภาพการบริหารงานท่าอากาศยานของ ทอท. และกำหนดแนวทางในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอแนวทางการดำเนินงานของ ทอท.ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ด้านการดำเนินธุรกิจ ทอท.ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานในด้านพัฒนาธุรกิจ โดย ทอท.อยู่ระหว่างการศึกษาหาแนวทางการพัฒนาแบบธุรกิจใหม่ๆ ตลอดจนการพัฒนาการดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ ทอท.ที่ขณะนี้ผลการดำเนินงานด้านการให้บริการการขนส่งสินค้าทางอากาศ ณ ทสภ.เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ ทอท.เข้าดำเนินการเอง เช่นเดียวกับการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ ทภก.ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทอท.จึงจะมีการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของ ทอท.ในด้านนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้าน Logistic ของรัฐ ทั้งนี้ การดำเนินการด้านหนึ่งของ ทอท.ในขณะนี้ คือ การจัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) ณ ทสภ.เพื่อเป็นศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าการเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทางให้ได้มาตรฐานสากล
ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร โดยการใช้ประโยชน์เขตปลอดอากร ทสภ.ในการรวบรวม คัดแยกและกระจายสินค้าในกลุ่มภูมิภาค และเพิ่มความมั่นใจในการส่งออก รวมทั้งลดปัญหาจากการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าจากประเทศปลายทาง โดย ทอท.ได้ศึกษาข้อมูลกับบริษัท Liege Airport S.A.ผู้บริหารท่าอากาศยาน Liege Airport ราชอาณาจักรเบลเยียมผ่านความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement : SAA)       ซึ่งท่าอากาศยาน Liege Airport เป็นเป็นท่าอากาศยานที่มุ่งเน้นการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นหลัก และเป็นท่าอากาศยานที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นอันดับ 8 ของทวีปยุโรป

นอกจากนั้น ด้านการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อการอำนวยความสะดวกและบริการผู้ใช้บริการท่าอากาศยานซึ่งนวัตกรรมถือเป็นหัวใจหลักในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจ โดย ทอท.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์นวัตกรรม ทอท. (AOT’s Innovation Strategies) เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและจัดหาเทคโนโลยี องค์ความรู้และทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการพัฒนานวัตกรรม โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์

ได้แก่ (1) องค์กรนวัตกรรม (Innovative Organization) ด้วยการปลูกฝังวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมให้กับพนักงาน
(2) นวัตกรรมบริการ (Service Innovation) ด้วยการยกระดับประสบการณ์การใช้บริการของผู้โดยสารและผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน และการสร้างความพึงพอใจของลูกค้า (3) นวัตกรรมร่วม (Synergy Innovation) ด้วยการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน และ (4) นวัตกรรมบนฐานองค์ความรู้และข้อมูล (Data-driven Innovation) ที่ ทอท.มีทักษะและความชำนาญการสั่งสมมากว่า 38 ปี ซึ่งที่ผ่านมา ทอท.ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้อำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ใช้บริการในทุกท่าอากาศยาน ได้แก่ ระบบเช็คอินด้วยตัวเองอัตโนมัติ (Common Use self Service-CUSS) ระบบรับสัมภาระผู้โดยสารอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop : CUBD) ระบบตรวจสอบกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง (Passenger Baggage Reconciliation System : PBRS) ระบบตรวจสอบข้อมูลคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (Advance Passenger Processing System : APPS) แอพพลิเคชั่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทอท. (AOT Mobile Application) ระบบการชำระค่าบริการท่าอากาศยานออนไลน์ (E-payment)

นายนิตินัย กล่าวว่า ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 40 ของ ทอท.จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับองค์กรที่จะปรับรูปแบบการให้บริการ การพาณิชย์ และการบริหารงานภายในองค์กร รวมถึงการเชื่อมโยงการทำงานกับองค์กรอื่นขึ้นไปอยู่บนโลกเสมือนจริง (Digital Platform) โดยการปรับตัวครั้งใหญ่ของ ทอท.ไปสู่ยุค Thailand 4.0 ดังกล่าว หมายรวมถึง ระบบการตัดสินใจในการบริหารท่าอากาศยานร่วมระหว่างหน่วยงาน (Airport Collaborative Decision Making :      A-CDM) และการพัฒนา AOT Application ที่จะช่วยการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการส่งเสริมกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบการในท่าอากาศยาน โดยเฉพาะร้านเล็กๆ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจชุมชน ฯลฯ ซึ่งฐานลูกค้าใน Digital Platform ที่คาดว่าจะมีจำนวนมากตามจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งนั้น นอกจากจะทำให้การให้บริการของ ทอท.มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะเป็นปัจจัยสำคัญในการ
ต่อยอดการพัฒนา Thailand 4.0 ของรัฐบาลในมิติต่างๆ ต่อไปด้วย

นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระหว่างวันที่ 11 – 13 กรกฎาคม 2561 ทอท.จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum ครั้งที่ 2 ณ โรงแรม Centara Grand & Bangkok Convention Centre at CentralWorld กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อหลัก “Aviation Industry as It Experiences Constant Evolution in Technology and Innovation” โดยเนื้อหาการประชุมจะสอดรับกับวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 300 คน ซึ่ง ทอท.มุ่งหวังว่าการประชุมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงาน และการให้บริการแก่ผู้โดยสาร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและการแข่งขันในระดับสากลซึ่งในโอกาสนี้ นอกจาก ทอท.จะนำเสนอโครงการ “Digital Platform” เพื่อการเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังท่าอากาศยานต่างๆ ทั่วโลกแล้ว ทอท.จะใช้เวทีนี้ในการหาเครือข่ายการขนส่งผ่านศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าการเกษตรในระดับภูมิภาคต่อไปด้วย

นายนิตินัย กล่าวในตอนท้ายว่า ทอท.มุ่งมั่นสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารงานท่าอากาศยานที่ดีระดับโลกภายใต้แนวคิดความเป็นรัฐพาณิชย์ที่เป็นเลิศใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านบริการ ด้านมาตรฐาน และด้านผลตอบแทนทางธุรกิจ รวมทั้งยังได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาล เพื่อให้องค์กรก้าวไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

------------------------------------------------------------------

ฝ่ายสื่อสารองค์กร

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

โทรศัพท์ 0 2535 5554, 0 2535 4097

โทรสาร  0 2535 4099

E-mail : aot_media@airportthai.co.th